อาหารสำหรับโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้อง Continuous Peritoneal Dialysis (CAPD) การล้างไตทางช่องท้อง เป็นวิธีที่อาศัยเยื่อบุช่องท้องช่วยกรองของเสียออกจากร่างกาย โดยการใส่น้ำยาเข้าในช่องท้องทางสายพลาสติก ที่แพทย์ได้ทำผ่าตัดฝังไว้ในช่องท้อง ทิ้งน้ำยาไว้ในช่องท้องประมาณ ๔-๖ ชั่วโมง จากนั้นก็ปล่อยน้ำยาออกจากช่องท้องทิ้งไป โดยทั่วไปจะทำการเปลี่ยนน้ำยาวันละ ๔ ครั้ง แต่การล้างไตด้วยวิธีนี้ทำให้มีการสูญเสียโปรตีนจำนวนมากออกมาทางน้ำยาในแต่ละวัน และได้รับน้ำตาลที่สูงกว่าปกติ (จากน้ำยาล้างท้องที่มีน้ำตาลสูง โดยอาจจะมีกลูโคสถูกดูดซึมเข้าไปได้ถึง 500 กรัม/วัน ) จะทำให้มีการผลิตไตรกลีเซอไรด์จากตับมากขึ้น ทำให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน เกิดไขมันในเลือดสูงได้ ดังนั้นผู้ป่วยอาจเกิดภาวะขาดอาหารได้ถ้ากินอาหารไม่เพียงพอ กินอย่างไรเมื่อมีการล้างไตทางช่องท้อง โปรตีน ประมาณ 1.2 - 1.5 กรัม /น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โปรตีนที่กินควรเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง ไม่น้อยกว่า 50% ที่ได้จากเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อปลา และไข่ขาว เพราะมีไขมันน้อยย่อยง่ายและดูดซึมดี และควรกินเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ติดมัน เช่น เนื้อหมูเนื้อไก่ ฯลฯ การได้รับโปรตีนไม่เพียงพอนาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อซูบผอม ภูมิต้านทานโรคต่ำ - พลังงาน⚡️ ถ้าอายุน้อยกว่า 60 ปี ต้องการพลังงานเท่ากับ 35 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ถ้าอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 60 ปี ต้องการพลังงานเท่ากับ 30-35 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมากลดพลังงานเหลือ 25 กิโลแคลอรี่ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยการกินอาหารที่ให้พลังงานอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายนำสารโปรตีนมาใช้เผาผลาญเป็นพลังงาน อาหารที่ให้พลังงานที่ดี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เผือก มัน ฯลฯ ควรงดกินของหวาน น้ำหวาน อาหารที่มีน้ำตาลสูง - ฟอสฟอรัส🦴 ควรจำกัด 800-1200 มิลลิกรัม/วัน หรือ < 17 มิลลิกรัม/กก. ถ้ามีฟอสฟอรัสในเลือดสูงควรจำกัดอาหารที่มีฟอสฟอรัส ได้แก่ เมล็ดพืชต่างๆ เช่น ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร และจำกัดการดื่มนม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย โยเกิร์ต เบเกอรี่ เค้ก พาย ช็อคโกแลต น้ำอัดลมสีเข้มกาแฟ ชาเบียร์ ไข่แดง เพราะการสะสมฟอสฟอรัสในร่างกายมากๆ จะมีผลต่อระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ และวิตามินดี ทำให้เกิดภาวะกระดูกผุ และอาการกล้ามเนื้ออ่อนเพลียได้ อย่างไรก็ตามแพทย์มักจะสั่งยาที่สามารถจับฟอสเฟต(ฟอสฟอรัส) ให้กินร่วมไปด้วยเพื่อช่วยบรรเทาปัญหานี้ - โซเดียม🧂 การได้โซเดียมมากเกินไปจะทำให้มีน้ำสะสมในร่างกายมาก เมื่อมีน้ำมากจะเกิดความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด ควรจำกัดโซเดียมในอาหารไม่ให้เกิน ๒๐๐๐ มก / วัน หรือคิดเป็นแกลือแกงประมาณ ๑ ช้อนชา หรือน้ำปลา หรือ ซีอิ๊ว ในการประกอบอาหารได้มื้อละ ๑ ช้อนชา และไม่ให้มีการเติมเพิ่มอีกระหว่างการกิน ผู้ป่วยจึงควรรับประทานอาหารรสอ่อนเค็มและหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด เช่น น้ำปลา ซีอิ้วขาว ซอสปรุงรส ซอสหอยนางรม เต้าเจี้ยว ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ หรืออาหารหมักดอง ที่ใช้เกลือในการถนอมอาหาร เช่น ไข่เค็ม กะปิ เต้าหู้ยี้ ปลาเค็ม แหนม ผักดองเปรี้ยว ผลไม้ดอง เป็นต้น - เครื่องเทศ🍲 ที่ใช้ประกอบอาหารเมื่อถูกจำกัดโซเดียม โดยสามารถกินได้ เช่น กระเทียม ใบกระเพรา ใบแมงลัก ใบสะระแหน่มะนาว ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด รากผักชี พริกไทย ลุกผักชี ยี่หร่า อบเชย ลูกจันทร์ ลูกกระวาน กานพลู - โปแตสเซียม😨 ควรได้รับ 3,000-4,000 มิลลิกรัม/วัน หรือไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับระดับของ โปแตสเซียมในเลือด การมีโปแตสเซียมในเลือดสูงมากเกินไป จะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ อาหารที่มีโปแตสเซียมสูงควรงดกิน เช่น ในผักใบเขียวเข้ม และสีส้ม เช่น คะน้า กวางตุ้ง แครอท ฟักทอง ฯลฯ และผลไม้เช่น ทุเรียน กล้วย กระท้อน ฝรั่ง ลูกเกด ลูกพรุนแห้ง ฯลฯ *อาหารที่มีโปแตสเซียมปานกลาง เช่น ส้มเขียวหวาน มะม่วงดิบ ส้มโอ แอปเปิ้ล *อาหารที่มีโปแตสเซียมต่ำ ที่สามารถเลือกรับประทานได้ควรลวก หรือต้มผักให้สุก เช่น ฟักเขียวสุก แตงกวา บวบสุก ผักกาดขาวปลีสุก ถั่วฝักยาวสุก ถั่วงอกสุกฯลฯ และผลไม้ที่กินได้ เช่นลองกอง ชมพู่ เงาะ แอปเปิ้ล องุ่น มังคุด แตงโม ฯลฯ *น้ำควรได้รับ 2,000-3,000 ซีซี/วัน หมวดอาหารแลกเปลี่ยน สำหรับผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง หมวดเนื้อสัตว์ 1 ส่วน ( 30 กรัม) มีโปรตีน 7 กรัม พลังงานเฉลี่ย 70 กิโลแคลอรี่ ได้แก่ เนื้อหมูสับสุก 2 ช้อนโต๊ะ, เนื้อไก่สุก 2 ช้อนโต๊ะ, กุ้งสุก 3-5 ตัว, เนื้อหมูสุก 2 ช้อนโต๊ะ, เนื้อปลาสุก 2 ช้อนโต๊ะ, ไข่ต้มทั้งฟอง 1 ฟอง, ไข่ขาวต้ม 2 ฟอง, ลูกชิ้น 5 ลูก หมวดข้าวและแป้ง 1 ส่วน มีโปรตีน 2 กรัม พลังงานเฉลี่ย 70 กิโลแคลอรี่ ได้แก่ ขนมปังกรอบ (2X2 นิ้ว) 6 ชิ้น, ข้าวสวย 1 ทัพพี, เส้นหมี่ 1 ทัพพี, บะหมี่ ½ ก้อน, ข้าวเหนียว ½ ทัพพี, ขนมปัง 1 แผ่น หมวดผัก 1 ส่วน มีโปรตีน 1 กรัม พลังงานเฉลี่ย 25 กิโลแคลอรี่ ได้แก่ ผักบุ้งจีนสุก 1 ทัพพี, แครอทสุก 1ทัพพี, ผักกาดขาวสุก 1 ทัพพี, ถั่วฝักยาวสุก 1 ทัพพี, กะหล่ำปลีสุก 1ทัพพี, ถั่วงอกสุก 1ทัพพี หมวดผลไม้ 1 ส่วน มีโปรตีน 0.5 กรัม พลังงานเฉลี่ย 70 กิโลแคลอรี่ ได้แก่ สัปปะรด 8 ชิ้นพอคำ, แตงโม 10 ชิ้นพอคำ, แอปเปิ้ล 1 ผลเล็ก, เงาะ 4 ผล, มังคุด 4ผล, ส้มเขียวหวาน 1 ผล, ชมพู่ 3 ผล, องุ่น 12 เม็ดเล็ก, มะม่วงดิบ 8 ชิ้นพอคำ หมวดแป้ง ที่ให้พลังงาน 70 กิโลแคลอรี่ แต่ให้โปรตีนน้อย เช่น วุ้นเส้นสุก 1 ทัพพี (ดิบ ½ กำเล็ก), สาคูสุก 1 ทัพพี(ดิบ 2 ช้อนโต๊ะ), ก๋วยเตี๋ยวเซียงไฮ้สุก 1 ทัพพี (แผ่นกลม 1 แผ่น) ตัวอย่างอาหารที่ทำจากแป้งปลอดโปรตีน ผัดไทวุ้นเส้น, ยำวุ้นเส้น, ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ผัด, , แกงจืดวุ้นเส้น, ขนมลืมกลืน, ขนมชั้น, สาคูข้าวโพด, สาคูน้ำแดง ฯลฯ ตัวอย่างอาหารผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตทางหน้าท้องพลังงาน 1,800 กิโลแคลอรี่/วัน **ถ้าต้องการพลังงานเพิ่มและไม่เป็นเบาหวานสามารถใช้น้ำตาล แต่ถ้าเป็นเบาหวานให้ใช้แป้งปลอดโปรตีนแทน (น้ำตาล 1 ช้อนชา= 20 KCAL) อาหารสำหรับโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การฟอกเลือด คือการนำเลือดออกจากร่างกายผ่านเข้าเครื่องฟอกเลือด เพื่อกำจัดของเสียปรับระดับเกลือแร่ และปรับดุลของน้ำหลังจากนั้นจึงนำเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย เป็นการแลกเปลี่ยนของเสีย เกลือแร่ ระหว่างเลือดกับน้ำยาฟอกเลือดโดยผ่านทางตัวกรอง ผู้ป่วยโรคไตที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ควรรับประทานอาหารอย่างไร ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยไตเทียม จะต้องฟอกเลือดประมาณสัปดาห์และ 2 – 3 ครั้ง ๆ ละ 4-6 ชั่วโมง ซึ่งต่างกับไตธรรมชาติที่ทำหน้าที่ 24 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยไตเทียมยังมีของเสียคั่งอยู่มากโดยเฉพาะผู้ที่ทำการฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ๆ ละ 4 ชั่วโมง ของเสียที่คั่งอยู่ได้แก่ สารโพแทสเซียม โซเดียม ฟอสเฟตและน้ำ จึงต้องจำกัดสารเหล่านี้ ส่วนสารโปรตีนมักได้ไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานอาหารที่ให้โปรตีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากในการฟอกเลือดแต่ละครั้งจะมีการสูญเสียกรดอะมิโน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของโปรตีน10 – 13 กรัม นอกจากนี้การฟอกเลือดยังกระตุ้นให้มีการสลายกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายเพิ่มขึ้น 📌สารโปรตีนคืออะไร โปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นในการเสริมสร้างเนื้อเยื่อ และซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค เป็นส่วนประกอบของเซลล์ต่างๆกล้ามเนื้อฮอร์โมนเลือด ฯลฯสารโปรตีนมีมากในเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู ไก่ ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมันรวมทั้งไข่ เนื้อสัตว์เป็นแหล่งสำคัญของสารอาหาร โปรตีน ซึ่งจำเป็นในการเสริมสร้างร่างกายและภูมิคุ้มกันโรค ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยไตเทียมจึงต้องรับประทานเนื้อหมู ไก่ ปลา และไข่ขาวให้เพียงพอ เพราะนอกจากใช้ในการเสริมสร้างร่างกายแล้ว ยังต้องชดเชยส่วนที่สูญเสียไปในการฟอกเลือดแต่ละครั้งอีกด้วย จึงควรได้รับเนื้อสัตว์สุก 40 –50 กรัม (3-4 ช้อนโต๊ะ) ในแต่ละมื้อ ร่วมกับรับประทานไข่ขาววันละ 2 ฟอง แต่ถ้ารับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากเกินไปก็จะยังคงมีของเสียมาก เนื่องจากไตเทียมสามารถเอาของเสียออกได้เพียง 10.0 เปอร์เซ็นต์ของไตธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้นควรรับประทานในปริมาณที่แนะนำ รับประทานข้าว และอาหารจำพวกแป้งอื่น ๆ ได้เท่าไร ข้าว ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมจีน ขนมปัง ข้าวโพด เผือก มัน เป็นอาหารที่ให้พลังงานเป็นหลัก ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับให้เพียงพอเพื่อป้องกันมิให้ร่างกายนำสารโปรตีนมาใช้เผาผลาญเป็นพลังงาน ซึ่งจะทำให้โปรตีนที่ได้รับไม่สามารถใช้ไปในการเสริมสร้างร่างกาย และเกิดภาวะขาดโปรตีนและพลังงานได้ - ผักที่สามารถรับประทานได้ 😋 ผักอุดมไปด้วยวิตามิน และเกลือแร่หลายชนิด ได้แก่ เบต้า – แคโรทีน ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยไตเทียมมักมีการสูญเสียวิตามินที่ละลายในน้ำไปกับการฟอกเลือด การรับประทานผักจะช่วยให้ได้รับวิตามินเพิ่มขึ้นและใยอาหารช่วยในการขับถ่ายดีขึ้น ในผักใบเขียวเข้ม และสีส้มมีสารโพแทสเซียมสูง และผู้ป่วยมักมีปัญหาขับถ่ายโพแทสเซียมได้น้อย จึงควรเลือกรับประทานผักที่มีโพแทสเซียมต่ำและควรลวก หรือต้มผักให้สุก เช่น ฟักเขียวสุก แตงกวา บวบสุก ผักกาดขาวปลีสุก ถั่วฝักยาวสุก ถั่วงอกสุก เป็นต้น - ผลไม้อะไรที่ทานได้ 😋 ผลไม้มีวิตามินซี เกลือแร่ ใยอาหาร แต่ผลไม้มีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ เช่น ลองกอง ชมพู่ เงาะ แอปเปิ้ล องุ่น มังคุด แตงโม เป็นต้น อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ถั่วเมล็ดแห้งหรือเมล็ดพืชควรหลีกเลี่ยงเพราะมีโพแทสเซียมสูง และฟอสฟอรัสสูงด้วยผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยไตเทียมมักมีปัญหาการขับถ่ายฟอสเฟตได้น้อย ทำให้มีระดับฟอสฟอรัสในเลือด และแคลเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งจะกระตุ้นให้ฮอร์โมนจากพาราไทรอยด์หลั่งออกมา ทำให้มีการสลายแคลเซียมจากกระดูกเพิ่มขึ้น เป็นผลให้กระดูกเสื่อมมีภาวะปวดกระดูก กระดูกเปราะหักงาย ดังนั้นผู้ที่ฟอกเลือดด้วยไตเทียม จึงควรหลีกเลี่ยงถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดพืชต่าง ๆ เต้าหู้ทุกชนิด น้ำอัดลมที่มีสีเข้ม เค้กและพาย อาหารที่มีรสเค็มจัด สามารถรับประทานได้บ้าง หรือไม่? ผู้ป่วยเมื่อฟอกเลือดนานเข้าอาจไม่มีปัสสาวะ และผู้ป่วยทำการฟอกเลือดเพียงสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง จึงอาจมีสารโซเดียม และน้ำคั่งในร่างกายเกิดอาการบวมน้ำ ความดันโลหิตสูงขึ้น ถ้าบวมมากอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยจึงควรจำกัดอาหารที่มีโซเดียมมากมักมีเกลือมาก และมีรสเค็มจัด เมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารเค็ม หรือรสจัดมาก ก็จะหิวน้ำ ดื่มน้ำมาก เมื่อขับถ่ายโซเดียมได้น้อยก็จะมีการกักเก็บน้ำไว้ตามเนื้อเยื่อทำให้บวม ความดันโลหิตสูงขึ้นเกิดอันตรายได้ผู้ป่วยจึงควรรับประทานอาหารรสอ่อนเค็มและหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด เช่น น้ำปลา ซีอิ้วขาว ซอสปรุงรส ซอสหอยนางรม เต้าเจี้ยว ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ หรืออาหารหมักดอง ที่ใช้เกลือในการถนอมอาหาร เช่น ไข่เค็ม กะปิ เต้าหู้ยี้ ปลาเค็ม แหนม ผักดองเปรี้ยว ผลไม้ดอง เป็นต้น 📌ตัวอย่างอาหารโปรตีน 60 กรัม/ 1 วัน หมวดอาหาร เช้า กลางวัน เย็น เนื้อสัตว์และไข่ 4 ช้อนโต๊ะ 4 ช้อนโต๊ะ 4 ช้อนโต๊ะ ข้าวและแป้ง 2 ทัพพี 2 ทัพพี 3 ทัพพี ผัก 1 ทัพพี 1 ทัพพี 1 ทัพพี ผลไม้ 1 ส่วน - 1 ส่วน น้ำมันพืช 3 ช้อนชา 3 ช้อนชา 4 ช้อนชา น้ำตาล 2 ช้อนชา 2 ช้อนชา 2 ช้อนชา แป้งปลอดโปรตีน - 1 ทัพพี - หมายเหตุ ผลไม้ 1 ส่วน = มังคุด ชมพู่ เงาะ 3-4 ผล = แตงโม สับปะรด 6-8 ชิ้นพอคำ = ลองกอง ลิ้นจี่ 6 ผล แป้งปลอดโปรตีน = วุ้นเส้น สาคู เส้นเซี่ยงไฮ้ วุ้น ---------
รอฟังเคล็ดลับสุขภาพดีๆเพิ่มเติมจากเราได้ที่นี่นะจ๊ะ LINE ID : @LoveRenal (มี @ ด้วยนะคะ) หรือ Click : https://goo.gl/whQ3g6 “สุขภาพที่ดีเริ่มต้นจากการเลือกรับประทาน” “Love Renal” - รักไต
0 Comments
Leave a Reply. |